สถาบันฯ ได้เรียนเชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐและเอกชนทางด้านการศึกษาและการแพทย์รวม 30 ท่าน มาร่วมระดมสมอง เพื่อหาแนวทางการศึกษาที่สร้างสรรค์ และเหมาะสมกับเยาวชนไทย (โดยขอสงวนนามของท่านเหล่านี้ เนื่องจากมิมีท่านใดต้องการความโด่งดัง) ซึ่งมีข้อสรุปจากการหารือร่วมกันดังต่อไปนี้
1. การศึกษาควรเป็นกระบวนการสร้างเสริมการเรียนรู้ บ่มเพาะและฝึกฝนเยาวชนให้เติบใหญ่เป็นพลเมืองที่ดีมีคุณภาพของสังคม
2. มีปรากฏการณ์อันน่าสลดใจที่เยาวชนในหลายประเทศ อาทิ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และไทย ต้องฆ่าตัวตายเพราะทนไม่ได้กับแรงกดดันทางการศึกษาที่เป็นอยู่ สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของระบบการศึกษาในปัจจุบัน
3. เด็กๆ ควรได้ฝึกฝนเรียนรู้อยู่ในกลุ่มเพื่อนนักเรียนที่รู้จักรักคนอื่น เอื้ออาทรผู้อื่น การเติบโตในสิ่งแวดล้อมเช่นนี้จะทำให้เขามีความสุข อบอุ่นใจ และความมั่นคงทางจิตใจนี้จะติดตัวไปตลอดชีวิต จนส่งผลให้มีความสุขในการเป็นสมาชิกของครอบครัวและสังคมในอนาคต
4. มีสถานศึกษาจำนวนมากที่คลั่งไคล้ระบบการจัดอันดับ ชอบจัดอันดับเด็กจากคะแนนสอบ ครูบาอาจารย์ก็จะชื่นชมเด็กที่ผลการเรียนดี และเฉยเมยกับเด็กที่เรียนด้อยกว่าเพื่อน เป็นการผูกปมในใจเด็ก และบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความอิจฉาริษยา ส่วนเด็กที่มีคะแนนสูงก็จะถูกอีโก้บังตา หลงลืมตัวมองไม่เห็นหัวใคร นี่ไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องในการสร้างเยาวชนคนรุ่นต่อไป
5. พ่อแม่และครูบาอาจารย์ต่างคาดหวังรวมทั้งบีบคั้นให้ลูกหลานหรือลูกศิษย์ของตนต้องบรรลุมาตรฐานตามที่ตัวเองต้องการ ทำให้การไปโรงเรียนกลายเป็นความทุกข์อย่างใหญ่หลวง
6. นอกจากการเรียนหนักในโรงเรียนแล้ว ผู้ใหญ่ยังยัดเยียดการเรียนพิเศษอย่างไม่หยุดหย่อน ไม่ว่าจะเป็นการเรียนกวดวิชา เรียนดนตรี เทควันโด ฯลฯ จนเด็กไม่เหลือเวลาที่มีอิสรภาพ ไม่มีเวลาไปเล่นกับเพื่อนหรือทำในสิ่งที่ตนเองชอบ ต้องใช้เวลาตามตารางอย่างเคร่งครัดเจ็ดวันต่อสัปดาห์ ย่อมก่อให้เกิดการต่อต้านอยู่ลึกๆ ในใจ รอเวลาที่จะระเบิดออกมา
6.1 เนื้อหาและกิจกรรมในโรงเรียนให้ความสำคัญและเน้นวิชาการมากกว่าทักษะการใช้ชีวิตโดยเฉพาะด้านการเข้าใจคนอื่น สังคมและตนเอง (ทั้งทางกายและทางใจ) ทำให้เด็กๆ ขาดการเสริมสร้างความเป็น “คน” ที่เข้มแข็งในสังคม (การที่โรงเรียนมักจะเน้นเนื้อหาด้านวิชาการ เนื่องจากการประเมินโรงเรียนและนักเรียนมักจะดูจุดนี้เป็นหลัก โรงเรียนจึงไม่ให้ความสนใจในการพัฒนาความรู้และทักษะการใช้ชีวิตของเด็กให้เพียงพอ)
7. ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับลูกศิษย์ไม่ใช่มีเพียงการถ่ายทอดความรู้เท่านั้น เพราะคำว่า “ลูกศิษย์” หมายถึงเป็นทั้ง “ลูก” และ “ศิษย์” ครูจึงต้องให้ความรักความเอาใจใส่เสมือนกับเป็นลูกของตัวเอง นี่คือสิ่งที่ผู้ปกครองต่างคาดหวังเมื่อส่งลูกไปโรงเรียน คาดหวังว่าคุณครูจะเป็นเหมือนพ่อแม่คนที่สอง คอยช่วยดูแลลูกอันเป็นที่รักในยามที่อยู่ห่างจากพ่อแม่ที่แท้จริง
8. คำว่า “ครู” มีรากศัพท์มาจากคำว่า “คุรุ” มีความหมายถึงหน้าที่อันหนักอึ้ง ซึ่งเป็นหน้าที่ศักดิ์สิทธิ์ในการสร้างคนรุ่นต่อไปให้มีคุณภาพและคุณธรรม แต่สังคมยุคนี้กลับยกย่องเชิดชูคำว่า “ครู” น้อยกว่าคำว่า “อาจารย์” ทั้งๆ ที่คำว่า “อาจารย์” มีความหมายเพียงแค่ผู้ที่มีวิชาความรู้หรือผู้ที่ถ่ายทอดวิชาความรู้เท่านั้น และอาจารย์ทั้งหลายในปัจจุบันก็มุ่งเน้นการสร้างวิทยฐานะของตนเองไปสู่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ในที่สุด ซึ่งทำให้อาจารย์ต้องทุ่มเทเวลาไปกับงานเอกสารเป็นหลัก ไม่สามารถใส่ใจนักเรียนนักศึกษามากเท่าที่ควร ปัญหานี้ลามมาถึงในโรงเรียนด้วย คำว่า “ครูใหญ่” ก็หายไปมีคำว่า “ผู้อำนวยการโรงเรียน” เข้ามาแทนที่ คุณครูยุคใหม่ก็มุ่งเรียนต่อเพื่อให้มีวุฒิสูงขึ้น แล้วก็รีบไปสอบเลื่อนฐานะเป็นผู้อำนวยการ คงเหลือผู้ที่มีจิตวิญญาณครูที่แท้จริงลดลงเรื่อยๆ
9. ท่ามกลางสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง ก็มีเรื่องดีๆ ปรากฏขึ้นอยู่บ้าง เช่น โครงการอาชีวะ ฝีมือชน คนสร้างชาติ หรือโครงการคอนเน็กซ์ อีดี (CONNEXT ED) ของมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา ซึ่งมีภาคเอกชน 12 องค์กรเป็นผู้สนับสนุนเพื่อพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน โดยให้โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการเน้นการเรียนรู้ในระบบ PROJECT BASED นักเรียนได้รวมกลุ่มกันร่วมคิด ร่วมสร้าง ร่วมแก้ไขปัญหา จนเกิดผลสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในชีวิตจริง อีกทั้งโครงการค่ายกล้าวรรณกรรมที่มีครูอาจารย์และนักเรียนจากทั่วประเทศมาเข้าร่วม ได้เรียนรู้กระบวนการคิดวิเคราะห์ การนำเสนออย่างมีศิลปะ การทำงานเป็นกลุ่ม มีโอกาสคบหาเพื่อนฝูงข้ามจังหวัดข้ามวัฒนธรรมจนบังเกิดเป็นมิตรภาพที่ยาวนาน ฯลฯ เหล่านี้คือกระบวนการศึกษาที่ไม่เน้นการสอบเอาคะแนน แต่เน้นให้เกิดการพัฒนาทักษะความรู้อย่างรอบด้าน เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข
เราได้เรียนรู้ระบบการศึกษาของประเทศฟินแลนด์ซึ่งได้รับการยกย่องเกือบทั้งโลกว่าเป็นระบบการศึกษาที่ดีที่สุด เราน่าจะต้องมาถอดรหัสการศึกษาของเขา เขาเน้นให้เด็กเรียนในสิ่งที่ชอบ ทำในสิ่งที่รัก การสอบไม่มีระบบจัดอันดับ ไม่มีการแยกห้องเด็กเก่งเด็กอ่อน หรือแทนที่จะให้รางวัลกับการแข่งขันเพื่อเอาชนะ แต่เน้นที่การทำงานเป็นทีม ใช้เทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมไม่ใช่พึ่งพิง แต่เน้นการปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับเพื่อน และการเขียนด้วยมือจากสมองโดยเฉพาะในการประเมินผล
นี่คือภารกิจสำคัญของคนรุ่นเราที่ต้องลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงเพื่ออนาคตที่ดีกว่าของเยาวชนไทย