ศูนย์อาเซียน-จีนศึกษา China-ASEAN Studies Center หรือ PIMCAS เป็นคลังสมอง (Think Tanks) ที่มีบทบาทมากที่สุดของประเทศไทยในด้านจีนอาเซียน โดยมีผลงานล่าสุดเป็นการศึกษาวิจัยโครงการ “ยุทธศาสตร์การตลาดนำเพื่อการส่งออกผลไม้ไทยสู่ตลาดจีน รวมบริบทการแพร่ระบาด Covid – 19” โดยทีมวิจัยได้มีการสัมภาษณ์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้วยการสำรวจพื้นที่และการจัดประชุมกลุ่มย่อยมากกว่า 100 หน่วยงาน ครอบคลุม 20 จังหวัดของประเทศไทย และ 12 มณฑล/เมืองของจีน พร้อมด้วยศึกษาข้อมูลการตลาดของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่สำคัญในจีน เช่น TaoBao/Tmall, JD และ Pin Duo Duo
การศึกษาวิจัยนี้เป็นการศึกษาวิจัยครั้งแรก ที่มีการอธิบายองค์ประกอบ กระบวนการและกลไกของห่วงโซ่อุปทาน ประกอบด้วย 1) การวิจัยและพัฒนา (R&D) 2) การจัดหาปัจจัยการผลิต (Input for production) 3) การทำการเกษตร/การทำฟาร์ม (Farming) 4) การรวบรวม (Collection) 5) การแปรรูป (Processing) 6) การส่งออก (Export) 7) การขนส่งข้ามแดน (Cross Border Logistics) 8) การนำเข้า (Import)/การจัดจำหน่าย (Distribution) 9) การค้าส่ง (Wholesale) การค้าปลีก (Retail) การสนับสนุน (Support) 10) การบริโภค (Consuming) และบทบาทของรัฐบาลไทยในแง่ของการจัดการ (Direction) กฎระเบียบ (Regulation) การส่งเสริมการเกษตร (Extension)การส่งเสริม (Promotion) การเจราจา (Negotiation) และบทบาทของรัฐบาลจีน เช่น กฎระเบียบ (Regulation) ภาษี (Taxation) และสิ่งอำนวยความสะดวก (Facilitation) จากข้อมูลล่าสุดในปี 2564 คณะวิจัยได้ประมาณการขนาดตลาดผลไม้ไทยในจีนจะมีขนาดประมาณ 200 ล้านคน และได้อธิบายพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ 21 ประการของกลุ่มผู้บริโภค 3 กลุ่ม (ผู้บริโภครายใหม่ ผู้บริโภคที่ซื้อประจำ และ ผู้บริโภคที่ผู้เชี่ยวชาญด้านผลไม้ไทย) รวมถึงการให้ข้อมูลตลาดเชิงลึกผลไม้ไทยที่ส่งออกไปจีนที่สำคัญที่สุด 6 ชนิด (ทุเรียน มังคุด ลำไย มะม่วง มะพร้าวอ่อน และส้มโอ) ซึ่งคิดเป็นมูลค่ากว่าร้อยละ 99 ของการส่งออกผลไม้ไทยไปจีน
ข้อมูลตลาดเชิงลึกของผลไม้ทั้ง 6 ชนิด ได้แก่ 1) มูลค่า-ปริมาณการส่งออก และส่วนแบ่งในการส่งออกผลไม้ของไทยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา 2) คู่แข่งของผลไม้ไทยในปัจจุบันและคู่แข่งที่มีศักยภาพในจีน ส่วนแบ่งการตลาด กำลังการผลิต และฤดูกาลเก็บเกี่ยว 3) การผลิตผลไม้ในประเทศไทย พื้นที่ปลูกทั้งหมด ผลผลิต ราคาหน้าสวนใน 3 ปีที่ผ่านมา ฤดูกาลเก็บเกี่ยวและสัดส่วนการเก็บเกี่ยวรายเดือน และข้อมูลทางเทคนิคอื่นๆ เช่น ความเข้มข้นในการผลิต ต้นทุนต่อหน่วยโดยประมาณ สายพันธุ์เชิงพาณิชย์ที่สำคัญ และผลไม้ที่ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) 4) การให้ข้อสังเกตทางตลาดในประเด็น ตัวสินค้า แหล่งที่มา ผู้จำหน่าย และราคา 5) ข้อมูลเชิงลึกของผู้บริโภค ที่มีทัศนคติเชิงบวกและเชิงลบที่สำคัญต่อผลไม้ไทย และคำที่ใช้ค้นหาผลไม้ไทยทางอินเตอร์เน็ต
การวิจัยนี้ ได้นำเสนอประเด็น 1) ผลกระทบและแนวทางแก้ไขปัญหาการส่งออกผลไม้ไทยเนื่องจากมาตรการโควิดเป็นศูนย์ของจีน (ZCP: Zero Covid Policy) 2) บริบทด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการส่งออกผลไม้ ภายใต้เงื่อนไข ข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things: IoT) ระบบอัตโนมัติ (Automation) และโซเชียลมีเดีย (social media)
นอกจากนี้ ได้มีข้อเสนอแนวคิดการบูรณาการห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Integration: SCI) เพื่อเป็นกลยุทธ์หลักที่มีห่วงโซ่อุปทานขับเคลื่อนด้วยอุปสงค์ (Demand Driven Supply Chain: DDSC) และได้นำเสนอกรอบแนวคิดการบูรณาการห่วงโซ่อุปทาน SCI ในกรอบ 5i ประกอบด้วย ข้อมูล (Information) การริเริ่ม (Initiation) ความเชื่อมโยง (Interconnection) การตรวจสอบ (Inspection) และการลงทุน (Investment) อย่างไรก็ตาม แม้การส่งออกผลไม้ไทยไปจีนที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายในไตรมาสแรกของปี 2565 แต่คณะวิจัยคาดการณ์ว่ามูลค่าการส่งออกผลไม้ 6 ชนิดของไทย จะเติบโตจาก 138 พันล้านบาทในปี 2564 เป็น 296 พันล้านบาทในปี 2569
PIMCAS ได้ดำเนินโครงการวิจัยและให้คำปรึกษาแก่หน่วยงานภาครัฐและบริษัทต่าง ๆ ของประเทศไทยและจีนมาตั้งแต่ปี 2555 โดยรายงานวิจัยล่าสุดเป็นผลงานทางด้านการเกษตรซึ่งเป็นโครงการเกี่ยวกับส่งออกข้าวไปจีนและการจับคู่ธุรกิจสินค้าเกษตรแปรรูป และสำหรับผลงานการวิจัยปัจจุบันได้ริเริ่มและอำนวยการโดยสถาบันคลังสมองของชาติ (KNIT) ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) ภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทย
สำหรับข่าวสารงานวิจัยสามารถติดตามได้ที่เว็ปไซต์ ศูนย์อาเซียน-จีนศึกษา ที่: https://cascenter.pim.ac.th หรือ Facebook Fanpage ที่: https://www.facebook.com/CAScenter