สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศรีราชา, เครือข่ายวิจัยประชาชื่น, วิทยาลัยบัณฑิตเอเซีย, สมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทยฯ (สสอท.), สมาคมสภาคณบดีเทคโนโลยีสารสนเทศ, Lac Hong University ประเทศเวียดนาม, National Taiwan Normal University ไต้หวัน, Nanjing Tech University Pujiang Institute, Shantou University สาธารณรัฐประชาชนจีน, Myanmar Noble University ประเทศพม่า, Kake Education Institute และ Shibaura Institute of Technology ประเทศญี่ปุ่น ในความร่วมมือจากคณะวิชา และ สำนักวิจัยและพัฒนา พีไอเอ็ม จัดการประชุมวิชาการปัญญาภิวัฒน์ระดับชาติ ครั้งที่ 13 และนานาชาติ ครั้งที่ 9 ประจำปี 2566 ภายใต้หัวข้อ “Business and Education Reform in the Multipolar Worlds” โดยได้รับเกียรติผ่านวีดีทัศน์จาก รองศาสตราจารย์ ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดี กล่าวเปิดงาน และ อาจารย์พรวิทย์ พัชรินทร์ตนะกุล รองอธิการบดีอาวุโส สายวิชาการ กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงาน ซึ่งงานนี้มีผู้สนใจส่งบทความเข้าร่วม แบ่งเป็น บทความระดับชาติ จำนวน 26 บทความ บทความระดับนานาชาติจำนวน 86 บทความ โปสเตอร์นำเสนอผลงานทางวิชาการ ระดับชาติ จำนวน 11 ผลงาน ระดับนานาชาติ จำนวน 59 ผลงาน และการแสดงต้อนรับจากสำนักส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรม พีไอเอ็ม
โดยได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อดีตประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฎ รองประธานฯ ฝ่ายปฏิบัติการฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ ประเทศไทย บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล สตอเรจ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด และ Prof. Dr. Qiang Liang Dean of School of Business, Shantou University, China ดำเนินรายการโดย Prof. Dr.Tang Zhi Min Director of China ASEAN Studies Center, Panyapiwat Institute of Management ร่วมแบ่งปันและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ มุมมองเกี่ยวกับความสำคัญของการปรับตัวของทุกภาคส่วน ทั้งภาคนโยบายการศึกษาของประเทศไทย ภาคธุรกิจเอกชนและภาคการศึกษาของประเทศจีน เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกในหลากหลายมิติ
ด้าน รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ เสนอทรรศนะเกี่ยวกับการขยับปรับเปลี่ยนระบบการศึกษาเพื่อปิดช่องว่างระหว่างการสร้างบัณฑิตของภาคการศึกษาและความต้องการทรัพยากรมนุษย์ของตลาดแรงงาน โดยต้องมีการปรับหลักสูตร ระบบการเรียนการสอนและรูปแบบการเรียนรู้ รวมทั้งครูอาจารย์ผู้สอน เพื่อเอื้อให้ผู้เรียนมีการเรียนรู้ด้านวิชาการ ที่สามารถนำไปใช้จริงได้ ฝึกฝนทักษะที่จำเป็น หรือ Core Skills อาทิ ทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ (Analytical Thinking) ความคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking) ทักษะการฟื้นตัว/ปรับตัว (Resilience/Flexibility and Agility) เป็นต้น รวมทั้งทักษะเชิงธุรกิจ (Core Business Skills) เช่น ทักษะความเป็นผู้นำ (Leadership Skills) การคิดเชิงวิเคราะห์ (Critical Thinking) การสื่อสาร (Communication) ทักษะเกี่ยวกับเทคโนโลยี (Technology) และทักษะการบริหารจัดการ (Management) ซึ่งสำคัญมากในการเชื่อมต่อกับตลาดแรงงานในภาคธุรกิจต่อไป
ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฎ กล่าวเสริมถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกที่กระทบภาคธุรกิจ โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ผ่านมา ที่ทำให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัวและต้องเพิ่มพูนทักษะ (Up-skill / Re-skill) ให้คนทำงาน ซึ่งสถานการณ์นี้ถือได้ว่าเป็นประโยชน์ต่อภาคการศึกษาที่กำลังเผชิญกับปัญหาจำนวนผู้เรียนที่ลดลง รวมทั้งเป็นความท้าทายของภาคการศึกษาในการปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อมุ่งสร้างบัณฑิตที่พร้อมทำงานจริง มี Employability และ Entrepreneurship ที่ตอบโจทย์ภาคธุรกิจ ซึ่งรูปแบบการเรียนรู้แบบ Work-based Learning น่าจะสามารถตอบโจทย์นี้ได้อย่างดี
Prof. Dr. Qiang Liang เผยถึงข้อมูลการปรับตัวของภาคธุรกิจของจีนท่ามกลางกระแสโลกแบบ Multipolar World โดยมีตัวชี้วัดการพัฒนา 5 มิติ ได้แก่ การพัฒนาด้านกำไร (Profitable Development) การพัฒนาด้านนวัตกรรม (Innovative Development) การพัฒนาด้านตลาด (Market Development) การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) และความรับผิดชอบทางสังคม (Social Responsibility) เพิ่มเติมทิ้งท้ายถึงผู้เรียนต้องก้าวทันตอบโจทย์โลกแห่งการเปลี่ยนแปลง โดยให้ความสำคัญการพัฒนาทักษะทางภาษาอังกฤษ เพื่อศักยภาพของการเป็นพลเมืองโลก (Global Citizenship) การพัฒนาตนเองให้เป็นบุคคลที่เปี่ยมศักยภาพ หรือ Resourceful รวมทั้งการเป็นสุภาพชน มีความอ่อนน้อมถ่อมตน และพัฒนาสมรรถนะของตนด้วยการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life-long Learning)
นอกจากนี้การประชุมวิชาการปัญญาภิวัฒน์ยังเป็นเวทีในการนำเสนอผลงานวิจัยของคณาจารย์และนักศึกษาทั้งจากภายในและภายนอกสถาบัน ต่อยอดสู่การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างนักวิจัย ทั้งในกลุ่มสาขาวิชาเดียวกันและต่างกลุ่มสาขาวิชา เปิดโอกาสให้รับฟังข้อเสนอแนะทั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิ คณาจารย์ นักวิชาการ อันจะนำไปสู่การพัฒนาผลงานวิจัยให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ณ ห้อง Auditorium ชั้น 16 อาคาร CP ALL Academy สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ถนนแจ้งวัฒนะ